"ศูนย์เรียนรู้ บางสวรรค์ปันรัก"ปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร...
“ศูนย์เรียนรู้ บางสวรรค์ปันรัก”ปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร
วันที่ 24 มิถุนายน 2564
นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้นายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนักการตลาด OTOPรุ่นใหม่ New Gen ร่วมกิจกรรมและติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานของผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคมีนบุรีอนุสรณ์ 1
ภายหลังผู้นำตำบลบางสวรรค์แสง จำนวน 15 คน ได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระแสงได้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 23 -25กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการและขยายผลกิจกรรมการปลูกผักสวนครัวอย่างน้อยครัวเรือนละ 10 ชนิดให้ครบทุกครัวเรือนสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยยึดแนวคิด หนึ่งหมู่บ้านสามารถดูแลได้ทั้งตำบล หนึ่งตำบลสามารถดูแลได้หนึ่งอำเภอ หนึ่งอำเภอสามารถดูแลได้หนึ่งจังหวัด หนึ่งจังหวัดสามารถดูแลได้หนึ่งกลุ่มจังหวัด หนึ่งกลุ่มจังหวัดสามารถดูแลได้หนึ่งภาค หนึ่งภาคสามารถดูแลได้ทั้งประเทศ ซึ่งมีบ้านบางเตา หมู่ที่ 10 โดยนายโชติ ไทยเกิดเป็นจุดดำเนินการนำร่อง และได้ขยายผลส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนในตำบลบางสวรรค์ปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย 10 ชนิดไว้บริโภค แจกจ่าย เหลือจำหน่ายสร้างรายได้ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP สร้างมูลค่าเพิ่ม (การสร้างความต่อเนื่องให้เกิดพลัง) การดำเนินกิจกรรมถนนกินได้ปลอดภัยไร้สารพิษในหมู่บ้าน ตำบล การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา พช. (สร้างชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแบ่งปัน การสร้างสิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการร่วมกับ “โครงการอาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก”(อถล.) การจัดการขยะสิ่งเหลือใช้ในครัวเรือนให้เกิดประโยชน์เช่นทำน้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยหมักใช้เอง (ชุมชนสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) การเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP เช่นกลุ่มเครื่องแกง กลุ่มแปรรูปน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นและต่อยอดผลิตภัณฑ์จากนำมันมะพร้าวสะกีดเย็น (จากวัฒนธรรม สู่นวัตกรรมและ ทำเป็นบ้าน สานเป็นกลุ่ม) จากผลการดำเนินงานที่โดดเด่นเป็นประโยชน์ต่อประชาชน กรมการพัฒนาชุมชนได้พิจารณาคัดเลือกและมอบรางวัลผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเด่น ระดับเขตตรวจราชการ จำนวน 100,000 บาท เพื่อต่อยอดการพัฒนาตำบลสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างชุมชนสีเขียว เสริมสร้างความรักความสามัคคี และความเกื้อกูลของคนในตำบล ภายใต้แนวคิด 1 หมู่บ้าน สามารถดูแลได้ทั้งตำบล สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ขยายวงกว้างและยั่งยืนต่อไป
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564 ได้จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีสร้าง “ศูนย์เรียนรู้ บางสวรรค์ปันรัก” ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคมีนบุรีอนุสรณ์ ๑ วัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นคลังอาหารหลักของตำบล เป็นแหล่งแบ่งปันพืชผักและเมล็ดพันธุ์ โดยคณะผู้นำการเปลี่ยนตำบลบางสวรรค์ได้สานพลังจากทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผลอื่นๆ พื้นที่บริเวณโรงเรียน ประมาณ 2 ไร่ โดยมีนายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอพระแสง นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) นักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (นพร.) เจ้าหน้าที่ 1 ตำบล1กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่สำนักงานเกษตรอำเภอพระแสง และผู้นำการเปลี่ยนตำบลบางสวรรค์ทุกคน นายณัฐพร อุไรโรจน์ สมาชิกสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ครูใหญ่และคณะครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคมีนบุรีอนุสรณ์ ร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน
นอกจากนั้นผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลบางสวรรค์ยังได้ขยายผลดำเนินการไปยังหมู่บ้านอื่นๆในตำบลในลักษณะ “ถนนกินได้ ปลอดภัย ไร้สารพิษ”บริเวณสองข้างถนนในหมู่บ้านบางสวรรค์ หมู่ที่ 3 บ้านห้วยแห้ง หมู่ที่ 11 บ้านอ่างน้ำผุด หมู่ที่ 13 รวมระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร โดยพืชผักที่ปลูกได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผู้นำชุมชนได้แก่ กล้วย มะม่วงหิมพานต์ ชะอม ข่า ตะไคร้ ขมิ้น มะเขือ พริก คะน้าไชยา เป็นต้น มีการขยายผลกิจกรรมปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ว่างของวัดเช่นวัดคีรีราษฏร์พัฒนาราม หมู่ที่ 12 ที่น่าสนใจอีกกิจกรรมคือการขยายผลกิจกรรม “โคก หนอง นา” ไปยังครัวเรือน สถานีตำรวจภูธรบางสวรรค์ โรงเรียนบางสวรรค์วิทยาคม เป็นการสร้างศูนย์เรียนรู้และคลังอาหารขนาดใหญ่ให้กระจายเต็มพื้นที่ของตำบล
นายธวัช หงษ์บิน นายอำเภอพระแสง เผยว่าปัจจุบันตำบลบางสวรรค์มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมากในทุกๆกิจกรรม ส่งผลให้ประชาชนมีความอบอุ่น อยู่ดีกินดี เป็นเพราะมีผู้นำชุมชน ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เข้มแข็งมีศักยภาพขับเคลื่อนงานให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ให้ความสำคัญขับเคลื่อน การพัฒนาโดยยึดหลัก 3 สร้างคือ สร้างความมันคงทางอาหาร สร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดี ให้เป็นสังคมเอื้ออารีมีการแบ่งปันสร้างความสุขอย่างยั่งยืน ถือเป็นกลยุทธการพัฒนาที่คลอบคลุมและเห็นผลความสำเร็จชัดเจน ต้องขอแสดงความชื่นชมยินดีกับรางวัลผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเด่นระดับเขตตรวจราชการของกรมการพัฒนาชุมชน 100,000 บาทในครังนี้ด้วย ขณะนี้อำเภอพระแสงได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอได้ถอดบทเรียนความสำเร็จของตำบลบางสวรรค์(บางสวรรค์โมเดล)เพื่อขยายผลให้ทุกตำบลได้ใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานต่อไป อีกทั้งในส่วนของ “ถนนกินได้ ปลอดภัย ไร้สารพิษ” สองข้างถนนภายในหมู่บ้าน นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีท่านได้ให้ความสำคัญขับเคลื่อนมาตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยมีจุดนำร่องตำบลละ 1 แห่ง มุ่งเป้าประสงค์ให้มีการปลูกพืชผักริมถนนในหมู่บ้าน ให้ประชาชนในหมู่บ้านร่วมบำรุงรักษาและเก็บบริโภค รวมทั้งให้ประชาชนนอกหมู่บ้านที่ผ่านไป-มา ได้เก็บเกี่ยวนำไปบริโภคในครัวเรือน เป็นการช่วยลดรายจ่ายบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะในช่วงเกิดการระบาดของโรคติดเชื่อ ไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งอำเภอพระแสงได้รณรงค์ส่งเสริมให้มีการบำรุงดูแลพืชผักที่ปลูกมาแล้วและขยายผลอย่างต่อเนื่องเต็มพื้นที่ต่อไป
สำหรับกิจกรรมที่ทางผู้นำการเปลี่ยนตำบลบางสวรรค์ได้จัดขึ้นในวันนี้ เป็นกิจกรรมให้ความรู้และปฏิบัติจริง สร้างสำนึกดีปฏิบัติดีในด้านการรักษ์โลก แก่เด็กนักเรียน จาก 4 โรงเรียนในพื้นที่ตำบลบางสวรรค์ จำนวนร่วม 40 คน เป็นการบ่มเพาะและสร้างอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ตั้งแต่เยาว์วัย (อถล.น้อย) ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ได้รับความร่วมมือจากนายเกียรติศักดิ์ จิตรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางสวรรค์ ด้วย
กิจกรรมที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ดำเนินการมานั้น เป็นการช่วยให้ทุกครัวเรือนมีผักที่ปลอดภัยไว้บริโภคเพียงพอประหยัดรายจ่ายเฉลี่ยครัวเรือนละ 50 บาทต่อวัน อีกทั้งเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีจากการเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน ทั้งครัวเรือนบ้านบางเตาและครัวเรือนตำบลบางสวรรค์ร่วม 3,350 ครัวเรือน เมื่อมีการขยายผลกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าว(บางสวรรค์ โมเดล)ไปทั่วทุกพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด จะเป็นการสร้างสังคมให้น่าอยู่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ได้ในที่สุด
พิชัย มณีลาภ ผอ.กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน รายงาน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น