ป.ป.ช. ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติ (การลักลอบดูดทราย)
ป.ป.ช. TaC Team ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติ (การลักลอบดูดทราย)
การประกอบกิจการดูดทราย เป็นการหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งแหล่งที่ดินของภาคเอกชนและภาครัฐ โดยรัฐมีอำนาจในการจัดสรรการใช้สอยทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงมีหน้าที่ออกมาตรการในการควบคุมการใช้ทรัพยากรไม่ให้เป็นไปในลักษณะของการทำลายทรัพยากรและก่อผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
จากการรวบรวมประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตประจำปี 2565 สำนักส่งเสริมและบูรณาการ การมีส่วนร่วมต้านทุจริต (สสร.) ได้รับข้อมูลประเด็นความเสี่ยงการทุจริตจากสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกี่ยวกับการลักลอบดูดทรายในแม่น้ำสาธารณะ ในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ 1) อำเภอพระแสง 2) อำเภอคีรีรัฐนิคม 3) อำเภอเวียงสระ 4) อำเภอกาญจนดิษฐ์ 5) อำเภอบ้านนาสาร 6) อำเภอพุนพิน 7) อำเภอบ้านตาขุน 8 ) อำเภอเคียนซา และ 9) อำเภอวิภาวดี จากทั้งหมด 19 อำเภอ ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการที่ขออนุญาตดำเนินการอย่างถูกต้อง และผู้ประกอบการที่มิได้ขออนุญาต ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนมีการเผยแพร่ปัญหาดังกล่าวผ่านสื่อออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง
กรณีนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการควบคุมการอนุญาตให้ดูดทรายเพื่อป้องกันสภาพแวดล้อมข้างเคียงพื้นที่แหล่งทรายไว้ และหากปล่อยให้มีการดูดทรายกันอย่างเสรี ในอนาคตอาจเกิดปัญหาขาดแคลนทรายตามมา และการอนุญาตให้ดูดทรายโดยมิได้มีการพิจารณาการบริหารจัดการที่ดี จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เกิดปัญหาตลิ่งพัง และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำทางเรือเดินได้ ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันผลกระทบในวงกว้างต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
สรุปประเด็นเสี่ยงต่อการทุจริต/สภาพปัญหาในภาพรวม
1. การลักลอบดูด/ขุดตักทรายโดยไม่มีใบอนุญาต หรือใบอนุญาตหมดอายุ
2. การลักลอบดูด/ขุดตักทรายนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต
3. ปริมาณการดูด/ขุดตักทรายที่อาจไม่เป็นไปตามที่ขออนุญาต
4. การทำประชาพิจารณ์ถึงผลกระทบจากการดูด/ขุดตักทราย ที่มีต่อชุมชน สภาพแวดล้อม
5. ความเสี่ยงต่อการให้และรับสินบน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต
6. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคร่งครัดในการติดตามตรวจสอบการประกอบกิจการดูด/ขุดตักทราย
หลังได้รับใบอนุญาต
พฤติการณ์ความเสี่ยงต่อการทุจริต พื้นที่ดังกล่าว ได้รับการร้องเรียนมายังเครือข่ายชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่ามีการลักลอบดูดทราย และเป็นพื้นที่ที่มีสถานประกอบการดูดทรายจำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการดำเนินการดูดทรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ใบอนุญาตหมดอายุ หรือลักลอบดูดทรายนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น