ผู้ว่าฯสุราษฎร์ ชูผลการดำเนินงาน “โคก หนอง นา โมเดล"
ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี ชูผลการดำเนินงาน “โคก หนอง นา โมเดล” ช่วยแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
วันที่ 20 ตุลาคม 2565 นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 โดยดำเนินการในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี พุนพิน คีรีรัฐนิคม พระแสง เวียงสระ พนม ท่าชนะ เคียนซา ท่าฉาง เกาะพะงัน และอำเภอวิภาวดี ซึ่งเป็นพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน (Household Lab Model for quality of life : HLM) ทั้งหมดจำนวน 115 แปลง ประกอบด้วย พื้นที่ขนาด 1 ไร่ จำนวน 36 แปลง และพื้นที่ขนาด 3 ไร่ จำนวน 79 แปลง ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบโคก หนอง นา และเบิกจ่ายงบประมาณเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับศักยภาพของแปลงโคก หนอง นา จากระดับ C (ปรับตัวสู่การพัฒนา) เป็นระดับ B (เสริมสร้างสู่ต้นแบบ) และจากระดับ B เป็นระดับ A (ต้นแบบศูนย์เรียนรู้) เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ขยายผลการดำเนินการของครัวเรือนในพื้นที่ และเน้นย้ำให้เป็นแปลงที่จะให้การสนับสนุน เยียวยา ช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบางตามความเหมาะสม โดยผลการประเมินศักยภาพพื้นที่แปลงโคก หนอง นา ปัจจุบันอยู่ในระดับ A จำนวน 81 แปลง คิดเป็นร้อยละ 70.43 ระดับ B จำนวน 27 แปลง คิดเป็นร้อยละ 23.48 และระดับ C จำนวน 7 แปลง คิดเป็นร้อยละ 6.09 ทั้งนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่แปลง ด้วยการให้เจ้าของพื้นที่แปลง ร่วมกับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เครือข่ายโคก หนอง นา ของอำเภอ/จังหวัด และภาคีเครือข่ายการพัฒนา ร่วมวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคของแต่ละแปลง จัดทำแผนการพัฒนา และมีการขับเคลื่อนพัฒนายกระดับศักยภาพพื้นที่แปลง โคก หนอง นา จากระดับ C เป็นระดับ B และจากระดับ B เป็นระดับ A ผ่านกระบวนการ “เอามื้อสามัคคี” ในลักษณะการหมุนเวียนกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์โดยส่งเสริมพื้นที่แปลงโคก หนอง นา ทุกแปลง ให้มีการรวมกลุ่มผลิต แปรรูป จำหน่าย และนำผลิตภัณฑ์ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP การเชื่อมโยงผลผลิตจากพื้นที่โคก หนอง นา กับตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ตลาดนัดชุมชน ตลาดออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงการเชื่อมโยงช่องทางการตลาดการสร้างรายได้จากกิจการอาหารปลอดภัย (โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร) กับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสุราษฎร์ธานี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ชุมชน Change for Good ที่มีความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน เศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มอบหมายให้ นายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนางสาวทวีวรรณ เกิดก่อ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน นายประเวศน์ ราชพิบูลย์ พัฒนาการอำเภอพุนพิน นักวิชาการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และนักวิชาการพัฒนาชุมชนสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพุนพิน นำคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานงบประมาณเขตที่ 4 สำนักงานงบประมาณ ภายใต้การนำของนางปวิตรา ธรรมศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณเขตที่ 4 ลงพื้นที่แปลงโคก หนอง นา และให้ข้อมูลในการติดตามผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณ (เงินกู้) ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยนางปวิตรา ธรรมศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณเขตที่ 4 ได้กล่าวว่าสำนักงบประมาณได้เห็นความสำคัญของการนำเงินกู้ดังกล่าวไปดำเนินการโครงการต่าง ๆ จึงได้กำหนดให้มีการติดตามผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อให้ทราบถึงความสำเร็จของโครงการ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข โดยในวันนี้ได้ลงพื้นที่แปลงของนายอนันต์ เจริญมี หมู่ที่ 3 ตำบลเขาหัวควาย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแปลงโคก หนอง นา ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ผลการดำเนินงานปัจจุบันได้ทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์โดยใช้วัสดุธรรมชาติและมีการดัดแปลงสูตรให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ เพาะพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืชเอง เป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ ได้ปลูกและขยายเมล็ดพันธุ์พระราชทาน (ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1) มีการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกไม้ 5 ระดับ ทำนาบัว เลี้ยงไก่และปลาดุก เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีน มีการแปรรูปผลผลิตจากพื้นที่แปลง เช่น กล้วยกรอบแก้ว ขนมทองม้วนไข่เค็ม ขนมครองแครงกรอบ ปลาดุกร้า ปลาดุกแดดเดียว เป็นต้น มีแหล่งจำหน่ายที่ต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยในช่วงที่ผ่านมามีหน่วยงานต่าง ๆ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนในพื้นที่ และผู้สนใจเข้ามาศึกษาและดูงานอยู่เสมอ และได้แบ่งปันเกื้อกูลให้กับครัวเรือนเปราะบางในชุมชน ด้วยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักนำไปปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน การแบ่งปันผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา และการให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ ทั้งนี้นายอนันต์ เจริญมี เจ้าของแปลงโคก หนอง นา ได้กล่าวว่ามีภาคส่วนที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนของภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา ภาคเอกชน และภาคสื่อสารมวลชน และตนได้นำเทคนิค 2จ 1ล (มีใจ จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และลงมือปฏิบัติจริง) มาใช้ในการปฏิบัติ จึงส่งผลให้เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต มีขีดความสามารถในการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนในชุมชนเพื่อการพัฒนา
คุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีศักยภาพและความสามารถในการขยายผลการปฏิบัติสู่พื้นที่โดยรอบ และในช่วงท้าย นางปวิตรา ธรรมศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณเขตที่ 4 ได้กล่าวว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นโครงการที่ใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และช่วยแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างแท้จริง
#กรมการพัฒนาชุมชน
#สุราษฎร์ทีม
#60ปีกรมการพัฒนาชุมชน
#สร้างสรรค์ชุมชนสร้างคนสร้างชาติ
#Changeforgood
ภาพ/ข่าว กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น