พ่อเมืองสุราษฎร์ฯ ปลื้มผลสำเร็จโครงการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
พ่อเมืองสุราษฎร์ธานี ปลื้ม ผลสำเร็จโครงการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และ โคก หนอง นา พช. สร้างรายได้ให้กับประชาชน
27 ตุลาคม 2565
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รณรงค์ให้ประชาชนดำเนินวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 อีกทั้งได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา ปัจจุบันมีพืชผักเหลือจากการบริโภคและแจกจ่ายแล้ว หลายพื้นที่ได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเช่นเครื่องแกง กล้วยฉาบ และมีการรวบรวมพืชผักของสมาชิกเพื่อนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ มีตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเช่น ที่แปลง โคก หนอง นา โมเดล ของ นางปราถนา จันทรณะ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รวบรวมพืชผักของสมาชิกในพื้นที่หมู่บ้าน ไปจำหน่ายที่ตลาดนัดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ณ ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ แต่ละวันมีผู้สนใจซื้อจำนวนมาก อีกทางได้เชื่อมโยงช่องทางการตลาดการสร้างรายได้จากกิจการอาหารปลอดภัย 4 ร.โดยมีการส่งพืชผักปลอดภัยให้กับร้านอาหาร “หนมจีน ณ คนดี” ของคุณยุพา เทียมกุล นับเป็นการช่วยสร้างงาน อาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในหมู่บ้านด้วย อีกทั้งผู้บริโภคได้บริโภคพืชผักที่ปลอดภัยส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง อยากให้“ทุกคนกินอาหารให้เป็นยา ไม่ใช่กินยาเป็นอาหาร”
นายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนักวิชาการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นางสาวทิพย์สุคนธ์ ปิ่นสมนาม พัฒนาการอำเภอคีรีรัฐนิคมลงพื้นที่ไปยังแปลง โคก หนอง นา โมเดล ของ นางปราถนา จันทรณะ บ้านเลขที่ 18 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านยาง อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้พบนางปราถนา จันทรณะ และครอบครัว พร้อมทั้งได้เห็นบรรยากาศการนำพืชผักมารวบรวมของสมาชิกในหมู่บ้าน
ทางด้านนางปราถนา จันทรณะ เผยว่า ตนเองเคยเป็นผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนดีเด่น อสม.ดีเด่น สมาชิกเหล่ากาชาด องค์กรสาธารณะประโยชน์หลายองค์กร มีความตระหนักและเป็นแบบอย่างที่ดี ทำหน้าที่พัฒนาชุมชน ส่วนรวม ได้เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอหลายกิจกรรมเช่น โครงการเสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืน สัมมาชีพชุมชน ปลูกผักปลอดภัย การน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดย ได้ทำการปลูกผักสวนครัวและผักพื้นบ้านมากกว่า 20 ชนิด เช่น แตงกวา ฟักทอง ฟักเขียว ถั่วฝักยาว ถั่วพู กะเพรา โหระพา วอเตอร์เกรด พริก ตะไคร้ บวบเหลี่ยม ข้าวโพด กล้วย มะละกอ เสาวรส ฯลฯ เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นาโมเดล มีการปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น เช่น ไก่ไข่ เป็ด กบ ปลา อีกทั้งได้มีการเชิญชวนแนะนำให้ครัวเรือนในหมู่บ้านได้ดำเนินการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารครบทุกครัวเรือน ปัจจุบันมีพืชผักเหลือจากการบริโภคและแจกจ่ายแล้วจึงได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มและรวบรวมพืชผักของสมาชิกเพื่อนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ เช่นตลาดนัดหน้าที่ว่าการอำเภอคีรีรัฐนิคม ตลาดนัดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ณ ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี และตลาดอื่นๆในพื้นที่ไกล้เคียง
จากนั้นนางปราถนา จันทรณะ ได้นำทีมข่าวไปเยี่ยมชมแปลงพืชผักข้างบ้านของสมาชิกในหมู่บ้านหลายครัวเรือน ซึ่งแต่ละครัวเรือนมีพืชผักสมบูรณ์สวยงามสามารถเก็บรับประทานสดๆได้เลย
นางปราถนา จันทรณะ ยังได้กล่าวอีกว่า ตนเองและสมาชิกกลุ่มยังได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฎิบัติการส่งเสริมการสร้างรายได้จากกิจการอาหารปลอดภัย 4 ร (โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร) ประจำปี 2565 ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้เจรจาตกลงซื้อขายกับนางสาวยุพา เทียมกุล เจ้าของร้านหนมจีน ณ คนดี เพื่อเป็นภาคีรับซื้อพืชผักปลอดภัยจากสมาชิกกลุ่ม จากนั้นตนเองและสมาชิกได้กำหนดแผนการปลูกพืชผักให้มีความต่อเนื่องและเพียงพอต่อความต้องการของร้าน “หนมจีน ณ คนดี”ปัจจุบันนับเป็นกิจการที่สามารถสร้างรายได้ที่ดีและมีความต่อเนื่อง สำหรับตนเองและสมาชิกกลุ่ม สำหรับตนเองจะมีรายได้จากการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ดังกล่าวถึงเดือนละ 70,000 บาท สำหรับการปลูกพืชผักปลอดภัยได้รับการแนะนำส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรจังหวัด สาธาณสุขจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดปัจจุบันทั้งในแปลงของตนเองและแปลงของสมาชิกมีพันธะสัญญากันว่าจะให้ความสำคัญกับการผลิตพืชผักปลอดภัยมากที่สุด โดยจะใช้เทคนิคการปลูกพืชผักแบบหมุนเวียนป้องกันการสะสมของโรคและแมลงในแปลงปลูก รวมทั้งการใช้น้ำหมักชีวภาพป้องกันแมลง และปุยหมัก ปุ๋ยคอกเท่านั้นจึงมั่นใจในความความปลอดภัยได้
ทางด้านนางสาวยุพา เทียมกุล เจ้าของร้านหนมจีน ณ คนดี กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่าที่ร้านมีน้ำยาที่อร่อย หลากหลาย ทั้งน้ำยาปู น้ำยาปลา น้ำยาหมู น้ำยาแกงไตปลา แกงป่า น้ำพริกหวาน มีไก่ทอด ทอดมัน ผัดไทย และที่สำคัญที่สุดคือมีพืชผักสวนครัว ผักพื้นบ้านเป็นผักแนม(ผักเหนาะ)จำนวนมากและมีความปลอดภัยคัดสรรมาเป็นอย่างดีเพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับลูกค้า โดยส่วนใหญ่สั่งซื้อจากแปลงโคก หนอง นา โมเดลของน้องสาวที่อำเภอบ้านนาสาร และแปลง โคก หนอง นา โมเดล ของ นางปราถนา จันทรณะ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพืชผักของสมาชิกในพื้นที่หมู่บ้านเป็นการช่วยสร้างงาน อาชีพและรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย ด้วยชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของลูกค้ามีการบอกต่อทั้งปากต่อปากและสื่อโซเชียลปัจจุบันมีลูกค้าประมาณวันละ 500 คน เปิดบริการทุกวันอังคารถึงวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมสัมมาชีพชุมชนมายาวนานในปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 ได้รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา ซึ่งเป็นการ พัฒนาพื้นที่แปลงโคก หนอง นา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต เพื่อการเรียนรู้ของประชาชนในชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นรูปธรรม และขยายผลการปฏิบัติสู่พื้นที่โดยรอบ โดยมีการจัดตั้งเครือข่ายระดับอำเภอ และระดับจังหวัด จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนา อย่างต่อเนื่อง พัฒนาพื้นที่แปลงตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ สร้างฐานเรียนรู้ต่างๆ ตลอดถึงการรวบรวมผลผลิตแปรรูป และนำออกจำหน่ายตลาดและช่องทางต่างๆ เป็นการพัฒนาขั้นพื้นฐานและขั้นก้าวหน้าตามบันได 9 ขั้นคือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ทำบุญ ทำทานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเมื่อมีมากพอ เก็บเป็นรากฐานในยามวิกฤต ขายจากสิ่งที่ทำเหลือ เชื่อมโยงเครือข่าย เป็นการ Change for Good สร้างความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อมและสังคม เศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน นายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน กล่าวทิ้งท้าย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น