สุราษฎร์ธานีพสกนิกรร้อยใจรักเฉลิมพระเกียรติ “พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” และ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ผ่านกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริฯ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลาน

พสกนิกรสุราษฎร์ธานีร้อยใจรักเฉลิมพระเกียรติ “พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” และ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ผ่านกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริฯ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลาน

     วันนี้ (วันจันทร์ ที่ 30 มกราคม 2566) เวลา 11.00 น. นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ  ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ เทิดทูนในพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" คือความสุข ที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม และกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานลายผ้าเป็นของขวัญปีใหม่แก่คนไทย "ลายผ้ามัดหมี่ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ผ้าบาติกลายพระราชทาน จำนวน 3 ลาย ได้แก่ "ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง" "ท้องทะเลไทย" และ"ป่าแดนใต้" รวมทั้งพระราชทานแบบลายผ้าพระราชทาน "ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา" เป็นของขวัญปีใหม่แก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่มทุกเทคนิค เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติครบ 3 รอบ วันที่ 8 มกราคม 2566  

     กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับที่ว่าการอำเภอบ้านตาขุน เทศบาลตำบลเชี่ยวหลาน และศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ชุมพร และคณะกรรมการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลาน โดยมี นายวีรยุทธ ขนุนนิล นายอำเภอบ้านตาขุน นายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเชี่ยวหลาน   กำนันตำบลเชี่ยวหลาน ผู้ใหญ่บ้าน คณะครูนักเรียน โรงเรียนรัชชประภาวิทยาคม และนักศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอบ้านตาขุน  สมาชิกกลุ่มสตรี แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมโครงการในครั้งนี้ กว่า 150 คน

     ทั้งนี้กิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีนิทรรศการแสดงพระประวัติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา การดำเนินงานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022 หนังสือ Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2022-2023 หนังสือดอนกอยโมเดล หนังสือสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน หนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และสื่อวิดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

       นิทรรศการสาธิตการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติในโครงการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ และสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้านหม่อนไหมหลักสูตรการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และฟอกสีเคมีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม/สีธรรมชาติจากหน่วยงาน “ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ชุมพร” โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นสมาชิกในกลุ่มทอผ้าบ้านเชี่ยวหลาน โดย นางวรรณา แสงมณี ประธานศูนย์ศิลปาชีพได้ร่วมบรรยายการสาธิตการย้อมเส้นฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ จากเปลือกไม้เคี่ยม เปลือกเพกา และครั่ง ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ด้วย 
      นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ตามพระดำริและโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และต่อยอดสู่การสวมใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวันได้อย่างสวยงาม” ทั้งนี้ ได้ให้กำลังใจแก่สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลาน ให้รักษามาตรฐานการทอผ้าให้มีคุณภาพและต่อยอดสู่การพัฒนาให้เกิดเป็นแบบลายผ้าใหม่ๆ โดยใช้สีธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
      นายพิชัย มณีลาภ เผยว่ากิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลานแห่งนี้ ได้รับความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่อำเภอบ้านตาขุน ได้แก่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ว่าการอำเภอบ้านตาขุน เทศบาลตำบลบ้านเชี่ยวหลาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนรัชชประภา ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ชุมพร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ส่งผลให้การดำเนินงานของศูนย์ศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลานมีผลงานด้านลายผ้าต่าง ๆ เป็นที่โดดเด่น อาทิ ลายขอเจ้าฟ้าฯ ลายราชวัตรโคม เป็นต้น  
  ทางด้าน นางวรรณา แสงมณี ประธานศูนย์ศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลาน กล่าวว่า เมื่อ ปี 2542 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านท่านหญิง อำเภอวิภาวดี ได้มีแกนนำ และตัวแทนชุมชนบ้านไกรสร (นายประสงค์ วิชัยดิษฐ์) ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับผลการกระทบจากการสร้างเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) และได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บ้านเชี่ยวหลาน ได้มีโอกาสเข้าเฝ้า ท่านทรงถามถึงปัญหาความต้องการ และความเป็นอยู่ของหมู่บ้านในอำเภอบ้านตาขุน ซึ่งผู้แทนชุมชนบ้านไกรสรได้ทูลขออาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนบ้านไกรสรและชุมชนไกล้เคียง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้พราะราชทานโครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้า โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2543 โดยได้พระราชทานอาคารและกี่อุปกรณ์การทอผ้า 20 ชุด และจากกองศิลปาชีพมอบให้เพิ่มเติมอีก 35 ชุด ในปี 2545 ได้ดำเนินการทอผ้าส่งกองศิลปาชีพ และจำหน่ายทั่วไป ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 27 คน มีรายได้เสริมจากการทอผ้าเฉลี่ยคนละ 4,500 บาทต่อเดือน ซึ่งลายผ้าที่สมาชิกทอส่วนใหญ่เป็นลายขอเจ้าฟ้าฯ ลายราชวัตรโคม ลายลูกแก้ว ลายตารางผ่าข้าวม้า กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” และ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ผ่านกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริฯ ในวันนี้ตนเองรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
      ซึ่งนอกจากนิทรรศการสาธิตการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติและกิจกรรมปลูกต้นเคี่ยมแล้ว จัดทำองค์ความรู้ การต่อยอดการใช้ประโยชน์จากต้นเคี่ยม เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ต่าง ๆ และถ่ายทำสื่อประชาสัมพันธ์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด    ซึ่งในวันนี้ยังได้ทำการปลูกต้นเคี่ยมซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 36 ต้น ตามรอบพระชนมายุของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ครบ 36 พรรษาในปีนี้ โดยทำการปลูกในพื้นที่ศูนย์ศิลปาชีพฯ จำนวน 10 ต้น และแจกจ่ายให้กับสมาชิกในศูนย์ศิลปาชีพฯ คณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับตำบล (กพ.สต.) ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้ประกอบการ OTOP นักเรียน นักศึกษา และผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ นำไปปลูกในพื้นที่ของตน อีกจำนวน 26 ต้น ถือเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี นับได้ว่าเป็นส่งเสริมและสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)อีกด้วย
   นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังได้กล่าวว่า “ขอให้คณะครูและนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้เรียนรู้การทอผ้ากับกลุ่มศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลาน เพื่อทำให้เกิดรายได้ในเวลาว่างและยังเป็นการอนุรักษ์การทอผ้าที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของอำเภอบ้านตาขุนที่มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายให้คงไว้ต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้กับคณะกรรมการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลาน สมาชิกกลุ่มทอผ้า และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ให้ประสบผลสำเร็จมีความก้าวหน้าตลอดไป” นายชูศักดิ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวโดย พิชัย มณีลาภ ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
#กรมการพัฒนาชุมชน
#กระทรวงมหาดไทย
#ข่าวกรมการพัฒนาชุมชน
#CDD #Suratthani
#สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ภาพ/ข่าว : กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สุราษฎร์ฯ//จัดงานแถลงข่าวและประชุมเพื่อเตรียมความพร้อม โครงการปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐานเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานีส่งทีมช่วยน้ำท่วมใต้

“แพทย์แผนไทยครบวงจร มหานครแห่งภูมิปัญญา เมืองสุราษฎร์ธานี” ครั้งที่2